รูปแบบการปกครองประเทศสยามในสมัยต้นรัชกาลสมเด็จพระปิยมหาราชนั้นยังเป็นระบบจารีตเหมือนที่เคยเป็นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา คืออำนาจสูงสุดอยู่กับพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในทางปฎิบัติพระเจ้าแผ่นดินจะทรงมอบอำนาจให้แก่บรรดาขุนนางในการดูแลหัวเมืองต่างๆ การกระจายการปกครองหัวเมืองแบบนี้เรียกว่าการปกครองแบบกินเมือง การเก็บรายได้ของแผ่นดินเช่นอากรและค่าธรรมเนียมต่างๆ ขุนนางผู้ปกครองหัวเมืองจะจัดให้มีการประมูลเพื่อให้บุคคลนั้นเหมาจ่ายรายได้จากการเก็บอากรให้ส่วนกลาง โดยตนเองก็จะไปจัดการจัดเก็บกันเองตามใจ ผู้ได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บจะถูกเรียกว่านายอากร ส่วนมากจะเป็นพ่อค้าชาวจีน รายได้ที่นายอากรเก็บได้ก็จะถูกแบ่งจ่ายให้บ้านเมืองตามจำนวนเงินที่ประมูลไว้ที่เหลือก็จะเก็บเอาไว้เอง วิธีการแบบนี้สร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรและมีการสมคบคิดกับบรรดาขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวงทำให้รายได้ของบ้านเมืองรั่วไหล โดยเฉพาะจากบรรดาขุนนางในสายของสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ที่มีอำนาจมากขณะนั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราชของชาวไทยทรงมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปบ้านเมืองมาตั้งแต่ยังทรงเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์แล้วทรงตั้งใจศึกษาจากตำราของประเทศตะวันตกที่มีความเจริญ แต่ติดขัดตรงที่เมื่อประองค์ทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ใหม่ๆ มีพระชนมพรรษาเพียง 15 ปี ทรงต้องอยู่ใต้อำนาจของสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อทรงมีพระชนมพรรษาครบ 20 ปีและมีอำนาจของพระมหากษัตริย์เต็มที่ จึงทรงดำเนินการตามภาระกิจที่ทรงตั้งใจไว้ เริ่มจากการปฏิรูปทางการคลังทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เพื่อดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้ให้เป็นระบบและไม่ให้มีการรั่วไหล ทรงตั้งกรมบัญชีกลาง (Royal Audit Office) และสภาที่ปรึกษาแผ่นดิน (Council of State) ทรงออกพระราชบัญญัติพระคลังมหาสมบัติและพระราชบัญญัติงบประมาณ เป็นครั้งแรกที่ประเทศสยามมีการจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่ายของแผ่นดิน ทำให้การเงินและการคลังของประเทศมีความเป็นระบบและน่าเชื่อถือมากขึ้น

หอรัษฎากรพิพัฒน์
การปฏิรูปทางด้านการเงินการคลังของแผ่นดินในสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช ทำให้มีการแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์ของแผ่นดิน โดยให้กรมพระคลังข้างที่ซึ่งปัจจุบันคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่ดูพระราชทรัพย์ส่วนของพระมหากษัตริย์ และการเก็บรายได้ของแผ่นดินจะอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพระคลังมหาสมบัติซึ่งปัจจุบันคือกระทรวงการคลัง ภาระกิจการปฏิรูปนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในการวางระบบการเงินการคลังของชาติให้มีความมั่นคงในเวลาต่อมา

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เครดิตภาพ กระทรวงการคลัง และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
#สมเด็จพระปิยมหาราช #ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ #การปฏิรูปการคลัง