ปัจจุบันฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีหัวหน้าคณะผู้บริหารชื่อ นางแครี่ แลมซึ่งบริหารฮ่องกงภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน เดิมฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษภายใต้เครือจักรภพ ปี 1898 อังกฤษขอเช่าเกาะฮ่องกงจากจีนเป็นเวลา 99 ปี เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ฮ่องกงปกครองด้วยระบบทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยและมีความเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าจนพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าการเงินที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย ปี 1997 เมื่อครบสัญญาเช่าอังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนโดยอยู่ในรูปแบบของเขตปกครองพิเศษเช่นเดียวกับมาเก๊า โดยที่รัฐบาลอังกฤษทำข้อตกลงกับรัฐบาลจีนให้ฮ่องกงได้ปกครองแบบประชาธิปไตยเหมือนเดิมต่อไปอีก 50 ปี

การประท้วงในฮ่องกง
รัฐบาลจีนเริ่มเข้ามาควบคุมฮ่องกงมากขึ้นท่ามกลางการปรับตัวของชาวฮ่องกง ชาวฮ่องกงบางส่วนยังไม่ยอมรับว่าตนเป็นประชาชนจีนอันมีสาเหตุมาจากความเคยชินของการเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยแบบทุนนิยมและการมีวิถึชีวิตแบบอังกฤษ แม้แต่ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษากวางตุ้งไม่ใช่ภาษาจีนกลางแบบจีนแผ่นดินใหญ่ ต้นเหตุที่ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลฮ่องกงเสนอร่างกฎหมายส่งตัวผู้กระทำผิดกลับไปดำเนินคดีในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ชาวฮ่องกงเห็นว่าจีนเข้ามาครอบงำกฏหมายของฮ่องกง การประท้วงเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 และยืดเยื้อมาจนถึงปี 2020 มีผู้เข้าร่วมการประท้วงนับล้านคน รัฐบาลจีนจับตาการประท้วงอย่างใก้ลชิด เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมและปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ประท้วงบางคนถึงกับเผาตัวตายเพื่อประท้วงรัฐบาล มีผู้เสียชีวิตประมาณสิบคนและมีผู้บาดเจ็บกว่าสามพันคนและถูกจับกุมเกือบหนึ่งหมื่นคน ผู้ประท้วงได้ขยายขอบเขตของข้อเรียกร้องออกไปโดยให้หัวหน้าผู้บริหารคนปัจจุบันลาออกและขอให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติและผู้บริหารด้วยตัวเอง

รัฐบาลจีนเริ่มเข้ามาปฏิรูปฮ่องกง
เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 การประท้วงเริ่มสงบลง เนื่องจากผู้คนหวาดกลัวการอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ได้ถือโอกาสนี้ผลักดันกฏหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงออกมา เป็นผลให้มีการจับกุมผู้นำการประท้วงขนานใหญ่ หัวหน้าผู้ประท้วงบางคนก็หลบหนีหรือขอลี้ภัย เดือนตุลาคม 2020 มีการจับกุมสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยจำนวน 7 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยคนอื่นประท้วงด้วยการลาออกเกือบหมด ในสภาจึงเหลือเฉพาะสมาชิกที่สนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่

ต่อมารัฐบาลจีนได้เสนอแผนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างสี่เมืองใหญ่คือ กวางเจา เสินเจิ้น ฮ่องกงและมาเก๊า เพื่อเชื่อมโยงจุดแข็งของแต่ละเมืองเข้าด้วยกันและมีแนวโน้มที่จะ โปรโมทเสินเจิ้นขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการเงินแทนฮ่องกงและแผนการนี้จะทำให้ฮ่องกงจะถูกกลืนเป็นเนื้อเดียวกับจีนเร็วขึ้น
แผนการนี้ของรัฐบาลจีนน่าจะสร้างความโกธรแค้นให้กับผู้ประท้วงมากขึ้นอีก แต่ก็คงทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะผู้นำการประท้วงเองก็เอาตัวเองแทบจะไม่รอดจากกฏหมายความมั่นคงแห่งชาติ อนาคตของฮ่องกงที่จะเป็นอิสระจากจีนและยืนอยู่ได้ด้วยตนเองจึงค่อนข้างจะมืดมนเสียแล้ว ฮ่องกงจะเดินต่อไปทางไหนดีคงยังไม่มีคำตอบในตอนนี้
เครดิตภาพจาก Wealthy Thai, Forbes Thailand, The Standard
#ฮ่องกง #การประท้วงในฮ่องกง #ปฏิรูปฮ่องกง