หลายคนที่เคยไปเที่ยวดินแดนอาทิตย์อุทัยอาจจะเคยได้เห็นท่าทางการแสดงความเคารพหรือทักทายของคนญี่ปุ่นที่มักใช้วิธีการโค้งด้วยความเคารพจนคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศเริ่มติดวิธีการโค้งนี้มาจากญี่ปุ่นซะแล้ว เพราะเป็นการทักทายที่ดูง่ายและรวดเร็ว
แต่แท้จริงสำหรับคนญี่ปุ่นนั้นกลับมองว่าการโค้งไม่ได้ง่ายเหมือนที่ตาเราเห็น เพราะหากมองดี ๆ จะเห็นว่าท่าทางการโค้งของเขาต้องใช้ทักษะบางอย่างของร่างกายที่ไปด้วยกัน ยิ่งนั่งก็ยิ่งทำได้ยาก แถมการโค้งแสดงความเคารพของคนญี่ปุ่นก็มีด้วยกันถึง 3 รูปแบบเลยนะ

การโค้งแสดงความเคารพของคนญี่ปุ่นแบบ “เซนเร”
การโค้งแสดงความเคารพของคนญี่ปุ่นแบบ “เซนเร” จะต้องกระทำในท่านั่ง และใช้ในพิธีทางการหรือกึ่งทางการ โดยโค้งศีรษะประมาณ 30 องศา และจะไม่เงยหน้าขึ้นโดยทันที จะต้องโค้งค้างไว้ราวๆ 2 – 3 วินาทีถึงจะเรียกว่าเป็นการโค้งที่ถูกต้อง

การโค้งแสดงความเคารพของคนญี่ปุ่นแบบ “เอชากุ”
การโค้งแสดงความเคารพของคนญี่ปุ่นแบบ “เอชากุ” โดยทั่วไปการโค้งทักทายเป็นวิธีที่ใช้ในการทักทายในตอนเช้าและตอนเย็น หรือทักทายผู้คนที่คนผ่านมา การทักทายเพื่อต้อนรับลูกค้า วิธีการโค้ง คือ ก้มตัวตั้งแต่เอวขึ้นไปทำมุมไปข้างหน้าประมาณ 15 องศา แนวสายตาคือ 3 เมตรข้างหน้า โดยหลังต้องเหยียดตรง มือทั้งสองข้างประสานกันไว้ตรงกลางลำตัวแบบตึง

การโค้งแสดงความเคารพของคนญี่ปุ่นแบบ “ไซเคเร”
การโค้งแสดงความเคารพของคนญี่ปุ่นแบบ “ไซเคเร” เป็นการโค้งที่ใช้สำหรับแขกคนสำคัญ ,ผู้มีพระคุณ ,ญาติ ,พ่อแม่ ,สามีภรรยา และคนใกล้ชิดที่ให้ความสำคัญกันมาก โดยจะยืนตัวตรงมือแนบลำตัวทั้งสองข้าง โค้งศีรษะ 45 องศา และอยู่ในท่านั้นประมาณ 3 วินาที มักใช้เวลาที่ต้องการขอโทษอย่างสุดหัวใจหรือต้องการแสดงความเคารพอีกฝ่ายจากใจ
นอกจากนี้ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น การโค้งคำนับเพื่อแสดงความเคารพยังมีหลายท่าและในวัฒนธรรมท้องถิ่นของบางภูมิภาคก็อาจแตกต่างกันออกไปด้วย
แต่ท่าโค้งที่เรานำมาเสนอแก่คุณนี้คือเบื้องต้นที่เป็นท่าโค้งคำนับสากลของคนญี่ปุ่นที่สามารถใช้กันได้อย่างทั่วไปแบบแพร่หลาย หากคุณจะไปญี่ปุ่นก็อย่าลืมศึกษากันให้ดีก่อนนะคะ เพราะหากโค้งถูกแต่ไม่ได้องศาที่ต้องการก็อาจทำให้เขามองคุณแบบแปลก ๆ ได้
ฉะนั้นขอบอกว่าการโค้งคำนับเพื่อแสดงความเคารพของญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เราคิดเลย ทำแรก ๆ อาจจะปวดหลังเพราะต้องเกร็ง แต่เดี๋ยวก็ชินไปเองหากอยู่กับวัฒนธรรมนี้ไปนาน ๆ
รูปภาพประกอบ : Pixabay
#การโค้งคำนับ #โค้งคำนับแบบญี่ปุ่น #วัฒนธรรมญี่ปุ่น