ภาพยนตร์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อ พ.ศ. 2434 นายโทมาส เอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญได้ร่วมมือกับนายวิลเลียม ดิกสัน (William Dickson) สร้างกล้อง Kinetograph และกล่องดูภาพ Kinetoscope ขึ้นได้สำเร็จ โดยใช้ฟิล์มของ โกดักที่มีแถบฟิล์มยาวหลายเฟรมในการเก็บภาพโดยเจาะรูที่ขอบฟิล์มทั้งสองด้านในแต่ละเฟรมเพื่อให้ฟันเฟืองของเครื่องถ่ายภาพหมุนฟิล์มเข้าสู่กล้องได้
กล่องดูภาพ Kinetoscope นี้มีความสูง 48 นิ้ว มีช่องเล็กๆ ให้ผู้ชมมองเข้าไปเห็นภาพยนตร์ที่ฉายอยู่ข้างในได้ แต่ดูได้เพียงทีละคน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นชาวสยามพระองค์แรกที่ได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์จาก Kinetoscope เมื่อคราวเสด็จสิงคโปร์และชวา

ปี พ.ศ. 2438 สองพี่น้องชาวฝรั่งเศส หลุยส์และออกูส ลูมิแอร์ (Louise & Auguste Lumiere) ได้พัฒนา Kinetoscope ให้ขยายสู่จอใหญ่เพื่อให้สามารถดูได้หลายคนโดยเรียกเครื่องนี้้ว่าซินีมาโตกราฟ (Cenematograph) และใช้โถงของร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีสจัดฉายภาพยนตร์และเก็บเงินคนเข้าชมเป็นครั้งแรก
ต่อมาสองพี่น้องชาวฝรั่งเศสจึงส่งหนังไปฉายที่กรุงลอนดอนในนาม Cenematograph Films และประสบความสำเร็จอย่างมาก และทำให้ภาพยนตร์แพร่หลายไปทั่วโลกและเป็นผลให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิต จำหน่ายและการจัดฉายภาพยนตร์เกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 เอส จี มาร์คอสกี้ (S.G Marchovsky) ได้นำเครื่อง ซินีมาโตกราฟ เข้ามาสู่ประเทศสยามและเก็บเงินค่าชมเป็นครั้งแรก โดยใช้โรงละครหม่อมเจ้าอลังการบริเวณสามยอดเป็นที่ฉายภาพยนตร์ สถานที่แห่งนี้จึงถือว่าเป็นโรงหนังแห่งแรกในประเทศสยาม ปัจจุบันโรงละครหม่อมเจ้าอลังการไม่มีเหลืออยู่ให้เห็นแล้วและไม่เคยมีภาพถ่ายของสถานที่แห่งนี้ จึงมีแต่หลักหมายที่มูลนิธิหนังไทยได้นำไปติดตั้งไว้ในบริเวณที่เคยเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของสยามแห่งนี้
หลังจากการฉายหนังในครั้งแรกนั้น ประเทศสยามก็ยังไม่มีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นจริง จนถึงปี พ.ศ. 2448 นายโทโมโยริ วาตานาเบะ (Tomoyori Watanabe) ชาวญี่ปุ่นเป็นผู้จัดตั้งโรงหนังขึ้นในประเทศสยามเป็นครั้งแรก บริเวณเวิ้งหลังวัดชัยชนะสงคราม ถนนเจริญกรุง โดยใช้กระโจมผ้าใบทำเป็นตัวโรงหนัง และนำหนังมาฉายเก็บเงินคนดู โดยมีชื่อเรียกกันติดปากของคนสมัยนั้นว่า “โรงหนังญี่ปุ่น” และหนังที่นำมาฉายก็เรียกว่า “หนังญี่ปุ่น” เช่นกัน ต่อมาโรงหนังญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้ใช้ตราแผ่นดิน ชาวสยามจึงเปลี่ยนมาเรียกชื่อว่าโรงหนังญี่ปุ่นหลวง
ต่อมานักธุรกิจเชื้อสายจีนในประเทศสยามจึงเกิดความสนใจในการสร้างโรงภาพยนตร์ จากปี พ.ศ. 2450 มีการสร้างโรงหนังขึ้นหลายโรง เช่น โรงหนังกรุงเทพซินีมาโตกราฟหรือโรงหนังวังเจ้าปรีดา โรงหนังสามแยก โรงหนังบางรัก โรงหนังรัตนปีระกาและโรงหนังพัฒนากรเป็นต้น

ภาพยนตร์ที่นำมาฉายล้วนเป็นหนังเงียบ แต่มีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ เจ้าของโรงหนังมักจะจัดแตรวงมาบรรเลงเพื่อเป็นการดึงดูดผู้ชม หนังที่นำมาฉายจะเป็นข่าว สารคดีหรือบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ เป็นส่วนใหญ่
ต่อมาปี พ.ศ. 2450 จึงเกิดบริษัทของคนไทยชื่อบริษัทรูปพยนต์กรุงเทพเจ้าของโรงภาพยนตร์วังเจ้าปรีดา โดยทำกิจการโรงหนังและนำเข้าหนังจากต่างประเทศเข้ามาฉาย
ต่อมาปี พ.ศ. 2453 ผู้ทำโรงหนังพัฒนากรจึงจัดตั้งบริษัทพยนต์พัฒนากรขึ้นจึงทำให้มีการแข่งขันด้านกิจการภาพยนตร์เพิ่มขึ้น โดยมีการใช้วิธีทางการตลาด เช่นการจับฉลากหางตั๋วเพื่อชิงของรางวัล เช่น สร้อยทอง ผ้าไหม เป็นต้นเพื่อดึงดูดผู้ชม
ต่อมาโรงหนังญี่ปุ่นหลวงก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อต้องขายกิจการให้ห้างขายยา เค.โอยามา พาหุรัด เจ้าของใหม่ได้เปลี่ยนชื่อโรงหนังเป็นโรงเจริญรูปภาพยนตร์ญี่ปุ่นหลวง แต่ก็ต้องเลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2459
บริษัทรูปพยนต์กรุงเทพชอบนำชื่อเมืองต่างๆ มาตั้งเป็นชื่อโรงภาพยนตร์ในเครือ เช่นโรงปีนัง โรงสิงคโปร์ โรงชะวา โรงฮ่องกง ส่วนบริษัทพยนต์พัฒนากร จะตั้งชื่อโรงหนังในเครือโดยมีคำว่าพัฒนาอยู่ด้วย เช่น โรงพัฒนากร โรงพัฒนาลัย โรงพัฒนารมย์ เป็นต้น
แม้ว่าจะแข่งขันกันอย่างเข้มข้นแต่ต่อมาบริษัทภาพยนตร์ทั้งสองก็ต้องมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวในนามบริษัทสยามภาพยนตร์ โดยมีนายเซียงซองอ้วน สีบุญเรืองเป็นผู้จัดการใหญ่
ต่อมามีบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ชื่อบริษัทนาครเขษมทุน จำกัด ซึ่งร่วมทุนกันระหว่างจีนกับฝรั่ง ได้ทุ่มทุนสร้างโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่เป็นอาคารคอนกรีตตั้งชื่อว่าโรงหนังนาครเขษม ในขณะเดียวกันก็เปิดโรงหนังในพระนครขึ้นอีกสองโรง คือ โรงหนังนาครศรีธรรมราช อยู่บริเวณสามแยก และโรงหนังห้างสิงโตเก่า ตั้งอยู่ที่เยาวราช ทั้งสามโรงเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2462
ปีถัดมาบริษัทนาครเขษมทุน ได้เปิดโรงภาพยนตร์อีกสองโรงคือ โรงหนังนาครปฐม อยู่สาทร โรงหนังนาครราชสีมาอยู่บางลำพูบน และโรงหนังนาครเชียงใหม่อยู่แถวตรอกเชียงกง แต่บริษัทแห่งนี้ก็เกิดการโกงในบริษัทจนต้องปิดกิจการขายทอดตลาดไปในปีนั้นเอง
ปี พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โปรดให้เจ้าพระยารามราฆพจัดตั้งบริษัทของคนไทยเพื่อทำกิจการด้านภาพยนตร์คือบริษัทสยามนิรามัย แต่ธุรกิจของบริษัทสยามนิรามัยก็ยังห่างชั้นจากบริษัทสยามภาพยนตร์ซึ่งมีโรงหนังอยู่ในกรุงเทพฯกว่าสิบโรงและมีโรงหนังอยู่เกือบทุกจังหวัด แต่บริษัทสยามนิรามัยมีโรงหนังอยู่เพียงสามสี่โรงในกรุงเทพฯ
ปี พ.ศ. 2466 นายเฮนรี่ เอ แมกเร นักสร้างหนังจากฮอลลีวูด ได้มาสร้างหนังไทยชื่อ “นางสาวสุวรรณ” โดยใช้ชาวสยามเป็นผู้แสดง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำออกฉายทั่วประเทศโดยบริษัทสยามภาพยนตร์ในชื่อนางสาวสุวรรณ ส่วนบริษัทสยามนิรามัยนำออกฉายโดยใช้ชื่อสุวรรณสยาม
ปี พ.ศ. 2466 บริษัทสยามนิรามัยได้สร้างโรงภาพยนตร์แห่งใหม่ขึ้น โดยดัดแปลงสถานทูตอังกฤษเก่าที่ถนนเจริญกรุงมาทำเป็นโรงหนังชื่อโรงหนังวิคตอเรีย เพื่อรองรับลูกค้าชาวต่างชาติและชนชั้นสูงในสังคมเวลานั้น
แต่ในปีเดียวกันนั้นเองบริษัทสยามนิรามัยก็ต้องเลิกกิจการไปและโรงภาพยนตร์ในเครือทั้งหมดก็ตกมาเป็นของบริษัทสยามภาพยนตร์แต่เพียงผู้เดียว
ตั้งแต่มีการนำเครื่องฉายภาพยนตร์เข้ามาในประเทศสยาม มีวิวัฒนาการของกิจการโรงหนังและการผลิตภาพยนตร์ ธุรกิจโรงหนังเกิดขึ้นและล้มไปหลายรายในที่สุดกิจการโรงหนังก็ตกอยู่ในการดำเนินงานของบริษัทสยามภาพยนตร์ทั้งหมด
เครดิตภาพ Pantip, The ASC, เรือนไทย
#เครื่องฉายภาพยนตร์ #ประวัติโรงหนังไทย #เรื่องเล่าจากอดีต