เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ทรงโปรดให้สร้างวัดสุทัศน์เทพวรารามเพื่อกำหนดให้เป็นศูนย์กลางของพระนคร ทรงโปรดให้นำพระใหญ่จากสุโขทัยชื่อพระศรีศากยมุนีรู้จักกันในนามพระโต ทรงให้ก่อสร้างเสาชิงช้าซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพระนคร
บริเวณย่านเสาชิงช้าที่เป็นย่านใจกลางเมืองนี้ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มมีการขายเครื่องสังฆภัณฑ์ตั้งแต่บริเวณประตูผีหรือประตูสำราญราษฎร์ ถนนมหาไชยเรื่อยไปถึงบริเวณเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม
ต่อมามีการก่อสร้างเป็นตึกสองชั้นที่จำลองแบบมาจากสิงคโปร์คือมีกำแพงหนา ขอบประตูตอนบนโค้งมนซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ย่านขายเครื่องสังฆภัณฑ์เริ่มจากบริเวณประตูผีต่อมาได้ขยายออกมาจนถึงบริเวณสี่กั๊กเสาชิงช้า
ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์บริเวณย่านเสาชิงช้านี้ส่วนใหญ่เป็นร้านขายปลีกให้ประชาชนทั่วไป ส่วนที่ย่านสำเพ็งซึ่งเป็นแหล่งขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่มีมาก่อนจะเป็นแหล่งขายส่งให้แก่พ่อค้าแม่ค้ามาซื้อไปขายต่ออีกที

ย่านเสาชิงช้านอกจากจากจะขายเครื่องสังฆภัณฑ์แล้วยังขายเครื่องประกอบศาสนพิธีด้วย
บริเวณใก้ลเคียงย่านเสาชิงช้ายังเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังฆภัณฑ์หลายอย่าง เช่น บ้านบาตรเป็นชุมชนที่มีมาตั้งแต่เริ่มสร้างพระนคร ปัจจุบันบริเวณซอยบ้านบาตรที่ติดกับถนนหลวงเป็นแหล่งผลิตบาตรพระซึ่งเป็นอาชีพที่ทำมาแต่ดั้งเดิมคือการตีบาตรด้วยความประณีตมีทั้งแบบลูกจันทร์ แบบตะโก แต่แบบที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือแบบมะนาวตัด แต่ต่อมาอาชีพการทำบาตรลดน้อยลงเพราะต้องทำด้วยความประณีตและเหนื่อยได้กำไรไม่คุ้มและยังมีบาตรปั๊มจากโรงงานเข้ามาตีตลาดในราคาถูก
ไม่ไกลจากย่านเสาชิงช้าคือบ้านสาย อยู่ตรงข้ามวัดเทพธิดารามติดกับถนนมหาไชย มีชุมชนที่ทำสายรัดประคด คือเข็มขัดสำหรับพระสงฆ์คาดเอว ทำด้วยไหมเทียมสวยงามมาก นอกจากนี้ยังทำถุงตะเคียวสำหรับใช้หุ้มบาตรพระด้วย แต่ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือคนทำสายรัดประคดแล้วเพราะมีสายรัดประคดที่ทำจากโรงงานออกมาขายราคาถูกกว่า
บริเวณด้านหลังตึกแถวขายเครื่องสังฆภัณฑ์ย่านเสาชิงช้าเมื่อเดินลึกเข้าไปยังมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอีก เช่น การหล่อพระ เย็บผ้าสบง จีวร สังฆาฏิ เมื่อทำเสร็จก็ส่งขายตึกแถวด้านหน้าได้เลย เกิดความสะดวกด้วยกันเนื่องจากแหล่งผลิตกับแหล่งขายอยู่ ใก้ลเคียงกัน

ปัจจุบันร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ย่านเสาชิงช้าพัฒนาจากเดิมที่เป็นคูหาเล็กๆ มาเป็นตึกหรูสูงหลายชั้น มีผู้มาซื้อของกันมากกว่าเมื่อก่อน โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษาและทอดกฐินจะขายดีเป็นพิเศษ
ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์แถวเสาชิงช้าถ้าเป็นร้านใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบเท่าใด แต่ร้านเล็กจะเปลี่ยนมาขายส่งมากขึ้น โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ที่อยู่ในต่างจังหวัดจะมาซื้อไปขายต่อให้ลูกค้าของตนอีกที
เครดิตภาพ POST TODAY, MATICHON ONLINE, trueID
#ย่านเสาชิงช้า #ย่านเก่าน่าเที่ยว #เรื่องเล่าเสาชิงช้า