หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมละครที่เราดูกันเมื่อลองกลับไปหาเป็นนิยายหรือหนังสือต้นฉบับอ่านจึงมีการดำเนินเรื่องที่ไม่เหมือนกัน แม้แต่บางเรื่องตัวละครบางตัวก็ยังอยู่ในสถานะที่แตกต่างจากหนังสือจนทำให้คนส่วนใหญ่มักเกิดความรู้สึกว่า “อ่านต้นฉบับแล้วสนุกกว่าดูเป็นละคร” แม้แต่ในการส่งพล็อตนิยายเพื่อให้ทางช่องโทรทัศน์หรือคนเขียนบทพิจารณาก็ยังต้องมีการดูและวิเคราะห์ให้ละเอียดเลย ไม่ใช่ว่าส่งไปแล้วแค่เรื่องสนุกทางนั้นก็รับ เพราะบางเรื่องเวลานำไปเขียนบทละครนั้นยากมาก…ยากที่จะเปลี่ยนให้นิยายดี ๆ มาเป็นละครดี ๆ เรื่องหนึ่งในสายตาผู้ชมได้จากการที่คนเขียนบทละครต้องคิดการดำเนินเรื่องและหลายอย่างแตกต่างจากนิยายต้นฉบับ มันเพราะอะไรกันนะ?
ความเข้มข้นของละคร

ละครกับนิยายย่อมมีความเข้มข้นที่แตกต่างกันแม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม เพราะตัวนิยายจะดำเนินเรื่องโดยอาศัยการบรรยายให้คนอ่านได้เห็นภาพสถานที่และความรู้สึกของตัวละครเป็นหลักอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อความสมเหตุสมผล ทำให้การดำเนินเรื่องมีความเอื่อยไปบ้างเป็นปกติ เพราะหากเร็วไป ความไม่สมเหตุสมผลของตัวละครและเหตุการณ์จะเกิดขึ้นทันที ซึ่งแน่นอนว่าเสี่ยงมากสำหรับบทละคร เพราะอย่างที่เรารู้ว่าละครในแต่ละตอนต้องมีการดำเนินเรื่องที่รวดเร็วใน 1 วันที่ฉายให้ผู้ชมเห็นเหตุการณ์สำคัญ 2 – 3 เหตุการณ์เพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งมันเป็นการบ้านที่ยากในการคิดวิธีใช้บทพูดกับการกระทำของทุกตัวละครเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจและเห็นด้วยกับปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องต่าง ๆ อันมาจากตัวละครเป็นหลัก เพราะไม่มีตัวหนังสือที่จะคอยมาบอกเล่าความรู้สึกเหมือนในนิยาย
การถ่ายทำละคร

การถ่ายทำละครแต่ละฉากต้องมีการดูและวิเคราะห์มุมกล้องประกอบเหตุการณ์ต่าง ๆ โลเกชั่นสถานที่ ความสะดวกของการแบ่งเวลานักแสดง และรายละเอียดยิบย่อยมากมายเกินคาดคิดจึงต้องมีเยอะ แถมยังต้องเผื่อเวลาให้นักแสดงที่เผลอพูดผิด ๆ ถูก ๆ หรือเกิดความผิดพลาดกลางกองถ่ายมากมายอีกด้วย หากจะให้การดำเนินเรื่องหลักของละครเหมือนนิยายก็คงใช้เวลาถ่ายทำเป็นปีเลยล่ะกว่าจะเสร็จ เพราะฉากหนึ่งของการถ่ายทำไม่ใช่ว่าจะได้มาแบบง่าย ๆ แม้แต่ฉากแสดงอารมณ์ร้องไห้ของตัวละครหนึ่งก็อาจต้องแก้ใหม่หลายรอบจนผู้กำกับถอนหายใจจนลมแทบจับก็เป็นเรื่องธรรมดาเลย
ระยะเวลาการฉายละคร

ช่องโทรทัศน์แต่ละช่องตลอด 24 ชั่วโมงสมัยนี้มีรายการมากมายเรียงคิวรอฉายแบบไม่มีวันหยุดเลย โดยเฉพาะกับช่องใหญ่ที่มีโฆษณาสปอนเซอร์และรายการมากมายเยอะแยะจนบางทีก็สามารถฉายละครได้แค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ยกตัวอย่างช่อง ONE 31 เป็นต้น และแม้แต่ช่องอื่นที่แม้จะมีเวลาลงฉายละครเยอะแต่ก็ไม่เคยเกิน 4 ชั่วโมงเป็นอย่างมากและละครบางเรื่องก็มีรายละเอียดเกี่ยวกับตัวแปรของเหตุการณ์ รวมไปถึงสิ่งสำคัญในจุดเล็ก ๆ เยอะแยะที่บางทีก็ไม่สามารถทิ้งหรือตัดไปได้จนทำให้บางครั้งเวลาฉายก็เลทเกินเวลามาบ้างทำให้รายการอื่นมาช้าไม่ตรงตามตารางจนคนดูอาจไม่ชอบใจได้ ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมดเมื่ออยู่ในช่องโทรทัศน์ ฉะนั้นคนเขียนบทละครจึงต้องพยายามสรุปส่วนสำคัญแบบรวบรัดจับปมเข้าหากันให้แน่นที่สุดและปริมาณล้นน้อยที่สุดด้วยเหตุนี้นั่นเอง
ฉะนั้นจึงไม่แปลกหากคุณจะดูละครไปบ่นไปว่าทำไมบางเรื่องดูแล้วไม่ค่อยเข้าใจปมหรือภารกิจต่าง ๆ ราวกับว่ามันยังมีรายละเอียดเล็กน้อยซ่อนอยู่
รูปภาพประกอบ : Pixabay
#ละครไม่เหมือนในนิยาย #ความต่างของนิยายและละคร #สาระบันเทิงน่ารู้