ภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทรงพิจารณาสิ่งที่ได้ทรงตรัสรู้เป็นเวลาสามยาม ยามที่หนึ่งทรงพิจารณาตามลำดับขั้นตอนแห่งเหตุปัจจัย ในการเกิดขึ้นของสภาวะธรรมที่เรียกว่าทุกข์ ทรงรู้และเข้าใจทุกข์และเหตุปัจจัย นี่คือขั้นตอนที่ทำให้เกิดทุกข์ที่เรียกว่าสมุทัย ยามที่สองทรงพิจารณาย้อนลำดับขั้นตอนของการดับไปแห่งทุกข์ ทรงรู้แจ้งสภาวะที่สิ้นเหตุปัจจัย นี่คือกระบวนการดับทุกข์ที่เรียกว่านิโรธ ยามที่สามทรงพิจารณาตามลำดับและย้อนลำดับทั้งขั้นตอนการเกิดขึ้นและการดับไปแห่งเหตุปัจจัยในการก่อให้เกิดทุกข์ เมื่อธรรมทั้งหลายแจ่มแจ้ง สรุปได้ว่าเมื่อทรงตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ว่าปฏิจจสมุปบาทหมายความว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีปัจจัยที่เกิดต่อเนื่องตามกันมาหรือเป็นไปตามปัจจัยเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าปัจจยาการ เรียกโดยรวมว่า อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท
กระบวนการเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติซึ่งครอบคลุมทุกอย่างทั้งรูปธรรมและนามธรรม โดยไม่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าหรือศาสดาใดๆ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “คถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม อิทัปปัจจยตาก็ยังคงอยู่”
การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือการนำกฏธรรมชาติที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทมาแสดงให้รู้ถึงปัจจยาการของการเกิดทุกข์และการดับไปของทุกข์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ใก้ลตัวที่สุดและยังสามารถขยายออกไปได้กว้างไกลไม่สิ้นสุดด้วยกฏธรรมชาติอันเดียวกัน
คำว่าธรรมในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นมีความหมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม บางครั้งก็เรียกว่าสภาวะซึ่งเป็นการสื่อตรงไปที่ความหมายที่ต้องการกว่า คำว่าสภาวะหมายความว่าสิ่งที่มีภาวะของตัวเองหรือมีอยู่ตามธรรมดาของมันที่มีที่เกิดที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่อย่างไรก็ตามคำว่าธรรมก็ยังเป็นคำที่ใช้กันมากที่สุด โดยเมื่อธรรมมีความหมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างจึงถูกจัดให้แยกออกมาเป็นรูปธรรมและนามธรรม

พระพุทธเจ้าทรงให้ความหมายคำว่าสังขารว่าเป็นส่วนประกอบอยู่ในชีวิตของคนและเป็นที่รวมของสภาวะทั้งที่ดีและที่ร้ายในจิตใจอันมีเจตนาเป็นตัวนำทำหน้าที่ปรุงแต่งความคิดและพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์ หมายถึงปรุงแต่งจิตใจ ความคิด คำพูด การกระทำ ที่เรียกโดยรวมว่ากรรม สังขารอันเป็นที่รวมของส่วนประกอบในชีวิตมนุษย์นี้บางทีก็เรียกว่า “ขันธ์”
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าชีวิตของมนุษย์เป็นที่รวมขององค์ประกอบทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมที่เรียกกันโดยรวมว่าขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูปขันธ์หนึ่งและนามขันธ์สี่ ได้แก่รูปขันธ์ คือกายอันเกิดจากการรวมกันของกองรูปธรรมต่างๆ เวทนาขันธ์คือความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ สัญญาขันธ์คือการประมวลบรรดาข้อมูลทั้งหมดที่เก็บไว้เป็นความทรงจำ สังขารขันธ์ คือความดี ความชั่วและบรรดาคุณสมบัติที่ประกอบกันเป็นเจตนาในทางกาย วาจาและใจ วิญญาณขันธ์ คือพื้นความรู้ที่ทำให้นามขันธ์ทั้งหลายทำงานได้ อันประกอบด้วย การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสกายและการรู้เรื่องในใจ
ขันธ์ 5 ในความหมายของพระพุทธเจ้าคือสภาวะธรรมที่เกิด ที่มี ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของชีวิต และด้วยสังขารขันธ์ที่เป็นนามธรรมซึ่งปรุงแต่งอยู่ในใจมนุษย์นี่แหละ คนจึงรู้จักคิด รู้จักพูดและกระทำต่างๆ ต่อสังขารทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกในจักรวาลทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมอันเป็นสังขตธรรม
การปฏิบัติกับทุกสิ่งทั้งที่เป็นธรรมชาติและเป็นวัตถุ ทั้งที่เป็นไปในทางสร้างสรรหรือทำลายล้างที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์นั้น ล้วนเกิดจากการขับเคลื่อนของสังขารขันธ์ที่ทำให้เกิดความคิด คำพูดและการกระทำ ดังนั้นการพัฒนามนุษย์คือการพัฒนาที่มีศูนย์รวมอยู่ที่สังขารขันธ์ในมนุษย์นั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงตรัสให้มนุษย์จะต้องใช้ปัญญาที่บริสุทธิ์เป็นตัวนำในการพัฒนา

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าอวิชชาเป็นจุดเริ่มต้นของปัจจยาการของสังขารของมนุษย์ อวิชชาคือความไม่มีวิชชา ไม่รู้แจ้ง ไม่รู้ความจริงแท้ ดังนั้นมนุษย์จึงจะต้องใช้ปัญญาตั้งแต่เมื่ออยู่ที่จุดเริ่มต้นของปัจจยาการเพื่อลดละอวิชชาและพัฒนาปัญญาเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นวิชชาและเกิดสัมมาทิฏฐิขึ้นมา ปัญญาที่อยู่ในสังขารขันธ์จะเป็นเครื่องช่วยปรับแก้ชี้นำและขยายวิสัยในการคิด การพูด และการกระทำที่มีเจตนานำหน้าให้ทำกุศลกรรมและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองและแก่โลก
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเจตนาจึงเป็นตัวนำของกองสังขารทั้งหมดที่จะแสดงออกมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับกำลังในฝ่ายดีคือปัญญาหรือกำลังในฝ่ายร้ายคืออวิชชาที่จะมามีอำนาจในการกำกับเจตนานั้น เมื่อปัญญามีพัฒนาการจนถึงขั้นการรู้แจ่มแจ้งแล้วเจตนาก็จะทำหน้าที่เพียงสนองงานของปัญญา โดยไม่ต้องเลือกหรือตัดสินใจเองหมายถึงมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา และเมื่ออวิชชาสลายหายไปหมดเหลือแต่วิชชาก็มาถึงจุดสูงสุดของการพัฒนามนุษย์คือนิพพาน
เครดิตภาพ กัลยาณมิตร, Goodlife Update, Eferrit
#พระพุทธเจ้า #ศาสนาพุทธ #เล่าเรื่องศาสนา